วันเสาร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2557

การผลิตผ้าไหมมัดหมี่ ลายปราสาทปรางค์กู่

     1. ขั้นตอนในการเตรียมเส้นไหมใช้สำหรับทอ
          การเลี้ยงไหม ไหมที่จะนำมาทอเป็นผืนผ้าไหมนั้น ส่วนใหญ่จะได้มาจากการเลี้ยงไหมของชาวบ้าน โดยเรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า "การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม" ตัวไหมที่ชาวบ้านนำมาเลี้ยงนั้น มีลักษณะคล้าย ๆ กับตัวหนอนกินใบหม่อนเป็นอาหาร ใบหม่อนนั้นจะได้มาจากการปลูกหม่อนของชาวบ้านตามไร่นาหรือตามสวน เมื่อตัวไหมหรือตัวหนอนแก่เต็มที่ จะสร้างฟักไหมขึ้นมาห่อหุ้มตัวเอง มีสีเหลือง (ไหมเหลือง) หรือสีขาว (ไหมขาว) ชาวบ้านจะเรียกกันว่า ฝักหลอก (ฝักไหม) เป็นไยไหมที่ตัวไหมหนึ่งตัวจะสร้างฝักไหมได้หนึ่งฝัก


                การสาวหลอก คือกรรมวิถีสาว (ดึง) เอาไยไหมออกมาจากฝักหลอก (ฝักไหม) มาเป็นเส้นไหม โดยนำเอาฝักหลอก (ฝักไหม) ต้มใส่หม้อดินขนาดใหญ่ มีเครื่องมือคีบดึงเส้นไหมออกมาเป็นเส้นยาวติดต่อกันเป็นเส้นเดียวกันตลอดจนหมดทุกฝัก เมื่อดึงเอาเส้นไหมออกมาจนหมดทุกฝักแล้วจะเหลือแต่ตัวไหม (ตัวหนอน) ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ดักแด้" เป็นอาหารที่ให้โปรตีนและอร่อยมาก เป็นของโปรดของชาวอีสาน ไหมที่ได้จากการสาวหลอกนี้เป็นไหมเส้นแข็ง เรียกกันว่า ไหมดิบ

                 การเหล่งไหม ไหมที่สาว (ดึง) ออกมาจากฝักหลอกนั้น จะยาวติดต่อเป็นเส้นเดียวกันตลอด ชาวบ้านจะนำเส้นไหมดิบมาเหล่งไหม (คล้ายกรอไหม) เพื่อทำเส้นไหมให้เป็นปอยไหม ไหมแต่ละปอยที่เหล่งได้นั้นจะใช้ไหมหนักประมาณ 2 - 3 ขีด

                  การด่องไหม คือกรรมวิธีนำปอยไหมที่ได้มาจากการเหล่งไหม มาต้มในน้ำเดือดโดยเติมผงด่าง เพื่อทำให้เส้นไหมอ่อนตัวลง หลังจากต้มในน้ำเดือดประมาณ 5 - 10 นาที จะนำไหมขึ้นมาบิดเอาน้ำออกจนหมด ผึ่งแดดและสลัดให้แห้ง ไหมที่ผ่านกรรมวิธีการด่องไหมแล้ว เส้นไหมจะอ่อนตัว และนิ่มลงกว่าเดิม


                  การกวักไหม คือกรรมวิธีที่นำเอาปอยไหมที่ผ่านการด่องไหมแล้วมา "กวัก" เพื่อทำให้เส้นไหมติดต่อเป็นเส้นเดียวกันตลอด เพราะกรรมวิธีการด่องไหม จะทำให้เส้นไหมขาดไม่ติดต่อกัน จึงนำปอยไหมมา "กวักไหม" ให้เส้นไหมติดต่อกัน โดยใช้เครื่องมือสองอย่างคือ "กง" (สำหรับใส่ปอยไหม ทำด้วยไม้ไผ่และเชือก) และ "กวัก"

          การค่นไหม คือกรรมวิธีนำเอาไหมที่กวักเรียบร้อยแล้ว "มาค่น"ทำปอยหมี่เพื่อนำไป "มัดหมี่" ต่อไป เครื่องมือที่   ใช้ค่นหมี่เรียกว่า "ฮงค่นหมี่" ปอยหมี่ที่ค่นเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ละปอยจะมมีความยาวเท่ากับความกว้างขงผืนผ้าไหมที่ทอเสร็จเรียบร้อยแล้ว

                  การมัดหมี่ เป็นกรรมวิธีที่สำคัญที่สุดที่จะทำผ้าไหมให้เป็นลายและสีสรรต่าง ๆ ในการมัดหมี่ให้เป็นลายและสีต่าง ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีและความนิยมของผู้ใช้เป็นสำคัญ เพราะลายและสีของผ้าไหมมีมากมายเหลือเกิน เช่น ถ้าต้องการผ้าไหมมีลายเล็ก ๆ เต็มผืนและหลาย ๆ สี ต้องใช้ผู้ที่มีฝีมือปราณีตในการมัดหมี่ ขณะเดียวกันค่าแรงงานในการจ้างมัดหมี่ก็แพงขึ้นด้วย เครื่องมือที่ใช้ในการมัดหมี่ คือ มีดบางเล็ก ๆ หรือใบมีดโกนชนิดมีด้าม เชือก ฟาง (สมัยก่อนใช้กาบกล้วยแห้ง) "ฮงหมี่" และ "แบบลายหมี่" การมัดลายเต็มตัว (เต็มผืน) ผู้มัดจะต้องมัดลายตามแบบลายหมี่ให้เต็มปอยหมี่ (ผู้ที่ชำนาญในการมัดหมี่จะไม่ดูแบบลายหมี่) ส่วนการมัดลายครึ่งท่อน (ครึ่งผืน) ผู้มัดหมี่จะมัดเพียงครึ่งเดียวของปอยหมี่เท่านั้น ขั้นตอนการหมัดหมี่จะเริ่มจาก เอาปอยหมี่ที่ค่นเสร็จแล้วใส่ "ฮงหมี่" ใช้เชือกฟางที่ซอยเล็ก ๆ มัดลำหมี่แต่ละลำไปตามแบบลายหมี่ ส่วนของไหมที่ถูกเชือกฟางมัดนี้เวลานำไปย้อมสี สีอื่นจะไม่สามารถเข้าไปในส่วนนั้น ๆ ได้ จะคงสีไว้ตามเดิม และส่วนที่ไม่ถูกมัดจะมีสีตามที่ย้อม ถ้ามัดหมี่และย้อมสีสลับกันหลายครั้งจะทำให้ผ้าไหมมีหลาย ๆ สี

 การย้อมหมี่ คือ  กรรมวิธีทำให้ผ้าไหมมีสีต่าง ๆ โดยนำปอยหมี่ที่มัดหมี่เรียบร้อยแล้วไปย้อมสีในน้ำเดือด โดยสีย้อมไหมที่มีคุณภาพดี ถ้าหากต้องการให้ผ้าไหมมีหลาย ๆ สีเพิ่มขึ้น เมื่อย้อมหมี่ด้วยสีย้อมไหมเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำไป "โอบหมี่" คือการใช้เชือกฟางเล็ก ๆ พันลำหมี่ตรงส่วนที่ยังไม่ถูกมัดหมี่ ตามแบบลายมัดหมี่ การโอบ (พัน) ต้องโอบ (พัน) ให้เชือกฟางแน่นที่สุดและหลาย ๆ รอบ นำหมี่ที่โอบหมี่เรียบร้อย แล้วไปล้างสีออกในน้ำเดือด (จะล้างออกเฉพาะบริเวณที่ไม่ถูกมัดหรือโอบเท่านั้น) โดยเติม "ด่างเหม็น" (ผงด่างที่มีกลิ่นเหม็น" หมี่ส่วนที่โอบหรือมัดไว้ จะคงสีตามเดิมส่วนที่ไม่ถูกโอบหรือมัดจะถูกล้างออกเป็นสีขาว นำไปย้อมเป็นสีอื่นอีกครั้งหนึ่งตามต้องการ บางสีเมื่อย้อมและนำไปโอบ (พัน) เรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องนำไปล้างออก ใช้สีอื่นย้อมทับลงไปเลยก็ได้ เช่น ย้อมสีฟ้าหรือสีน้ำเงินแล้ว ต้องการให้ผ้าไหมเป็นสีเขียว ต้องใช้สีเหลืองย้อมทับอีกทีหนึ่ง เป็นต้น

          การแก้หมี่ คือกรรมวิธีแก้เชือกฟางที่ใช้มัดลำหมี่แต่ละลำออกให้หมดโดยใช้มีดบางเล็ก ๆ หรือใบมีดโกนชนิดมีด้าม การแก้หมี่จะต้องทำอย่างระมัดระวังอย่าให้มีดถูกเส้นไหมขาด หมที่แก้เชือกฟางออกหมดแล้ว จะเห็นลายหมี่ได้สวยงามและชัดเจนมาก

          การกวักหมี่  คือกรรมวิธีคล้าย ๆ กับการ "กวักไหม" โดยใช้อุปกรณ์ในการกวักเหมือนกัน นำหมี่ที่แก้เรียบร้อยแล้วใส่ "กง" และกวักออกจนหมดบ่อยเหมือนการกวักไหมทุกประการแต่จะต้องระมัดระวังอย่าให้เส้นไหมขาดตอน เพราะเมื่อนำไปทอแล้วจะไม่เป็นลายตามต้องการ

          การปั่นหลอด คือกรรมวิธีนำเอาหมี่ที่กวักเรียบร้อยแล้วไป "ปั่น" (กรอ) ใส่หลอด (ทำด้วยต้นปอแห้งที่ลอกเปลือกแล้วยาว 2 - 3 นิ้ว) โดยใช้เครื่องมือเรียกว่า "ไน" หมี่หนึ่งปอยจะปั่นใส่หลอดได้ประมาณ 35 - 45 หลอด โดยปั่น "กรอ" เรียงลำดับของหลอดไว้ตั้งแต่หลอดแรกจนถึงหลอดสุดท้ายสลับที่กันไม่ได้ นำหลอดแรกบรรจุใน "กระสวย" (ทำทำด้วยไม้หรือพลาสติก) นำไปทอในไหมเครือ (เส้นยืน) ที่เตรียมไว้จนหมดจำนวนหลอดที่ปั่นได้

2. ขั้นตอนการเตรียมไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) 

การค่นหูก
 คือกรรมวิธีนำไหมที่เตรียมไว้สำหรับเป็นไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) ไปค่น (กรอ) ให้ได้ความยาวตามจำนวนผืนของผ้าไหมตามต้องการ ไหมหนึ่งเครือจะทำเป็นผ้าไหมได้ประมาณ 20 - 30 ผืน (ผ้าไหม 1 ผืน ยาวประมาณ
180 - 200 เซนติเมตร โดยใช้เครื่องมือในการ "ค่นหูก" เรียกว่า "หลักเผือ"

การย้อมไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) คือกรรมวิธีนำไหมเครือที่ค่นเสร็จเรียบร้อยแล้วไปย้อมสีในน้ำเดือด โดยเติมผงด่างคล้ายกรรมวิธี "การด่องไหม" สีที่นำมาย้อมนั้นจะต้องใช้สีให้กลมกลืนกับสีของหมี่ที่ใช้สำหรับทอ หรือย้อมให้เป็นสีเดียวกันก็ได้ แต่ส่วนมากชาวบ้านจะนิยมย้อมเป็นเป็นสีดำ เพราะจะเข้ากับสีของหมี่ที่ใช้ทอได้ทุกสี 

การสืบหูก คือกรรมวิธีนำเอาไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) ที่ย้อมสีแล้วไปต่อกับ "กกหูก" คือส่วนที่ติดอยู่กับ "ฟืม" 
ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการทอผ้าไหม "ฟืม" มีอยู่ 2 ชนิด คือ "ฟืมฟันไม้" (ฟันทำด้วยไม้) และ "ฟืมฟันเหล็ก" สมัยก่อนจะใช้ฟืมฟันไม้ทอผ้าไหมเท่านั้น เพราะยังไม่มีฟืมฟันเหล็ก ปัจจุบันมีผู้คิดค้นประดิษฐ์ฟืมฟันเหล็กขึ้นมาใช้ ส่วนประกอบที่สำคัญของฟืมอีกอย่างหนึ่ง คือ "เขา" หรือ "ตะกอ" มี 2 ชนิด คือ 2 เขา (สองตะกอ) และ 3 เขา (สามตะกอ) เขาหรือตะกอจะทำด้วยด้ายถักเรียงกับไม้ไผ่ที่เหลาเป็นเรียวให้ขนานกับฟืม ยาวเท่ากับความยาวของฟืมพอดี ถ้าฟืมมี 2 เขา (ตะกอ) จะเรียกกันว่า ฟืมสองเขาหรือสองตะกอ ถ้าฟืมมี 3 เขา (ตะกอ) จะเรียกกันว่า ฟืมสามเขาหรือสามตะกอ ส่วนของฟืมที่อยู่ด้านตรงข้ามกับเขาหรือตะกอ จะมีด้ายหรือไหมทำเป็น "กกหูก" หมายถึงส่วนที่จะนำไปต่อกับไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) วิธีการต่อเส้นไหมทั้งสงชนิดให้เป็นเส้นเดียวกันนี้เรียกว่า "การสืบหูก" 

การพันหูก คือกรรมวิธีนำเอาฟืมที่ผ่านการสืบหูกเรียบร้อยแล้วมาพันไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) ใหม่ให้เป็นระเบียบเพื่อนำไปทอเป็นผ้าไหมต่อไปอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับฟันหูก คือไม้กระดานยาวเท่ากับขนาดของฟืมหรือยาวกว่าเล็กน้อย
และจะต้องใส่ไม้ให้เรียบที่สุดเพื่อสะดวกในการพัน ในการพันหูกนี้จะต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วนและใจเย็นพอสมควร 
ถ้าเส้นไหมเครือขาดจะต้องทำการต่อเส้นไหมให้เรียบร้อยทุก ๆ เส้น