วันเสาร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2557

การผลิตผ้าไหมมัดหมี่ ลายปราสาทปรางค์กู่

     1. ขั้นตอนในการเตรียมเส้นไหมใช้สำหรับทอ
          การเลี้ยงไหม ไหมที่จะนำมาทอเป็นผืนผ้าไหมนั้น ส่วนใหญ่จะได้มาจากการเลี้ยงไหมของชาวบ้าน โดยเรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า "การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม" ตัวไหมที่ชาวบ้านนำมาเลี้ยงนั้น มีลักษณะคล้าย ๆ กับตัวหนอนกินใบหม่อนเป็นอาหาร ใบหม่อนนั้นจะได้มาจากการปลูกหม่อนของชาวบ้านตามไร่นาหรือตามสวน เมื่อตัวไหมหรือตัวหนอนแก่เต็มที่ จะสร้างฟักไหมขึ้นมาห่อหุ้มตัวเอง มีสีเหลือง (ไหมเหลือง) หรือสีขาว (ไหมขาว) ชาวบ้านจะเรียกกันว่า ฝักหลอก (ฝักไหม) เป็นไยไหมที่ตัวไหมหนึ่งตัวจะสร้างฝักไหมได้หนึ่งฝัก


                การสาวหลอก คือกรรมวิถีสาว (ดึง) เอาไยไหมออกมาจากฝักหลอก (ฝักไหม) มาเป็นเส้นไหม โดยนำเอาฝักหลอก (ฝักไหม) ต้มใส่หม้อดินขนาดใหญ่ มีเครื่องมือคีบดึงเส้นไหมออกมาเป็นเส้นยาวติดต่อกันเป็นเส้นเดียวกันตลอดจนหมดทุกฝัก เมื่อดึงเอาเส้นไหมออกมาจนหมดทุกฝักแล้วจะเหลือแต่ตัวไหม (ตัวหนอน) ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ดักแด้" เป็นอาหารที่ให้โปรตีนและอร่อยมาก เป็นของโปรดของชาวอีสาน ไหมที่ได้จากการสาวหลอกนี้เป็นไหมเส้นแข็ง เรียกกันว่า ไหมดิบ

                 การเหล่งไหม ไหมที่สาว (ดึง) ออกมาจากฝักหลอกนั้น จะยาวติดต่อเป็นเส้นเดียวกันตลอด ชาวบ้านจะนำเส้นไหมดิบมาเหล่งไหม (คล้ายกรอไหม) เพื่อทำเส้นไหมให้เป็นปอยไหม ไหมแต่ละปอยที่เหล่งได้นั้นจะใช้ไหมหนักประมาณ 2 - 3 ขีด

                  การด่องไหม คือกรรมวิธีนำปอยไหมที่ได้มาจากการเหล่งไหม มาต้มในน้ำเดือดโดยเติมผงด่าง เพื่อทำให้เส้นไหมอ่อนตัวลง หลังจากต้มในน้ำเดือดประมาณ 5 - 10 นาที จะนำไหมขึ้นมาบิดเอาน้ำออกจนหมด ผึ่งแดดและสลัดให้แห้ง ไหมที่ผ่านกรรมวิธีการด่องไหมแล้ว เส้นไหมจะอ่อนตัว และนิ่มลงกว่าเดิม


                  การกวักไหม คือกรรมวิธีที่นำเอาปอยไหมที่ผ่านการด่องไหมแล้วมา "กวัก" เพื่อทำให้เส้นไหมติดต่อเป็นเส้นเดียวกันตลอด เพราะกรรมวิธีการด่องไหม จะทำให้เส้นไหมขาดไม่ติดต่อกัน จึงนำปอยไหมมา "กวักไหม" ให้เส้นไหมติดต่อกัน โดยใช้เครื่องมือสองอย่างคือ "กง" (สำหรับใส่ปอยไหม ทำด้วยไม้ไผ่และเชือก) และ "กวัก"

          การค่นไหม คือกรรมวิธีนำเอาไหมที่กวักเรียบร้อยแล้ว "มาค่น"ทำปอยหมี่เพื่อนำไป "มัดหมี่" ต่อไป เครื่องมือที่   ใช้ค่นหมี่เรียกว่า "ฮงค่นหมี่" ปอยหมี่ที่ค่นเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ละปอยจะมมีความยาวเท่ากับความกว้างขงผืนผ้าไหมที่ทอเสร็จเรียบร้อยแล้ว

                  การมัดหมี่ เป็นกรรมวิธีที่สำคัญที่สุดที่จะทำผ้าไหมให้เป็นลายและสีสรรต่าง ๆ ในการมัดหมี่ให้เป็นลายและสีต่าง ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีและความนิยมของผู้ใช้เป็นสำคัญ เพราะลายและสีของผ้าไหมมีมากมายเหลือเกิน เช่น ถ้าต้องการผ้าไหมมีลายเล็ก ๆ เต็มผืนและหลาย ๆ สี ต้องใช้ผู้ที่มีฝีมือปราณีตในการมัดหมี่ ขณะเดียวกันค่าแรงงานในการจ้างมัดหมี่ก็แพงขึ้นด้วย เครื่องมือที่ใช้ในการมัดหมี่ คือ มีดบางเล็ก ๆ หรือใบมีดโกนชนิดมีด้าม เชือก ฟาง (สมัยก่อนใช้กาบกล้วยแห้ง) "ฮงหมี่" และ "แบบลายหมี่" การมัดลายเต็มตัว (เต็มผืน) ผู้มัดจะต้องมัดลายตามแบบลายหมี่ให้เต็มปอยหมี่ (ผู้ที่ชำนาญในการมัดหมี่จะไม่ดูแบบลายหมี่) ส่วนการมัดลายครึ่งท่อน (ครึ่งผืน) ผู้มัดหมี่จะมัดเพียงครึ่งเดียวของปอยหมี่เท่านั้น ขั้นตอนการหมัดหมี่จะเริ่มจาก เอาปอยหมี่ที่ค่นเสร็จแล้วใส่ "ฮงหมี่" ใช้เชือกฟางที่ซอยเล็ก ๆ มัดลำหมี่แต่ละลำไปตามแบบลายหมี่ ส่วนของไหมที่ถูกเชือกฟางมัดนี้เวลานำไปย้อมสี สีอื่นจะไม่สามารถเข้าไปในส่วนนั้น ๆ ได้ จะคงสีไว้ตามเดิม และส่วนที่ไม่ถูกมัดจะมีสีตามที่ย้อม ถ้ามัดหมี่และย้อมสีสลับกันหลายครั้งจะทำให้ผ้าไหมมีหลาย ๆ สี

 การย้อมหมี่ คือ  กรรมวิธีทำให้ผ้าไหมมีสีต่าง ๆ โดยนำปอยหมี่ที่มัดหมี่เรียบร้อยแล้วไปย้อมสีในน้ำเดือด โดยสีย้อมไหมที่มีคุณภาพดี ถ้าหากต้องการให้ผ้าไหมมีหลาย ๆ สีเพิ่มขึ้น เมื่อย้อมหมี่ด้วยสีย้อมไหมเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำไป "โอบหมี่" คือการใช้เชือกฟางเล็ก ๆ พันลำหมี่ตรงส่วนที่ยังไม่ถูกมัดหมี่ ตามแบบลายมัดหมี่ การโอบ (พัน) ต้องโอบ (พัน) ให้เชือกฟางแน่นที่สุดและหลาย ๆ รอบ นำหมี่ที่โอบหมี่เรียบร้อย แล้วไปล้างสีออกในน้ำเดือด (จะล้างออกเฉพาะบริเวณที่ไม่ถูกมัดหรือโอบเท่านั้น) โดยเติม "ด่างเหม็น" (ผงด่างที่มีกลิ่นเหม็น" หมี่ส่วนที่โอบหรือมัดไว้ จะคงสีตามเดิมส่วนที่ไม่ถูกโอบหรือมัดจะถูกล้างออกเป็นสีขาว นำไปย้อมเป็นสีอื่นอีกครั้งหนึ่งตามต้องการ บางสีเมื่อย้อมและนำไปโอบ (พัน) เรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องนำไปล้างออก ใช้สีอื่นย้อมทับลงไปเลยก็ได้ เช่น ย้อมสีฟ้าหรือสีน้ำเงินแล้ว ต้องการให้ผ้าไหมเป็นสีเขียว ต้องใช้สีเหลืองย้อมทับอีกทีหนึ่ง เป็นต้น

          การแก้หมี่ คือกรรมวิธีแก้เชือกฟางที่ใช้มัดลำหมี่แต่ละลำออกให้หมดโดยใช้มีดบางเล็ก ๆ หรือใบมีดโกนชนิดมีด้าม การแก้หมี่จะต้องทำอย่างระมัดระวังอย่าให้มีดถูกเส้นไหมขาด หมที่แก้เชือกฟางออกหมดแล้ว จะเห็นลายหมี่ได้สวยงามและชัดเจนมาก

          การกวักหมี่  คือกรรมวิธีคล้าย ๆ กับการ "กวักไหม" โดยใช้อุปกรณ์ในการกวักเหมือนกัน นำหมี่ที่แก้เรียบร้อยแล้วใส่ "กง" และกวักออกจนหมดบ่อยเหมือนการกวักไหมทุกประการแต่จะต้องระมัดระวังอย่าให้เส้นไหมขาดตอน เพราะเมื่อนำไปทอแล้วจะไม่เป็นลายตามต้องการ

          การปั่นหลอด คือกรรมวิธีนำเอาหมี่ที่กวักเรียบร้อยแล้วไป "ปั่น" (กรอ) ใส่หลอด (ทำด้วยต้นปอแห้งที่ลอกเปลือกแล้วยาว 2 - 3 นิ้ว) โดยใช้เครื่องมือเรียกว่า "ไน" หมี่หนึ่งปอยจะปั่นใส่หลอดได้ประมาณ 35 - 45 หลอด โดยปั่น "กรอ" เรียงลำดับของหลอดไว้ตั้งแต่หลอดแรกจนถึงหลอดสุดท้ายสลับที่กันไม่ได้ นำหลอดแรกบรรจุใน "กระสวย" (ทำทำด้วยไม้หรือพลาสติก) นำไปทอในไหมเครือ (เส้นยืน) ที่เตรียมไว้จนหมดจำนวนหลอดที่ปั่นได้

2. ขั้นตอนการเตรียมไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) 

การค่นหูก
 คือกรรมวิธีนำไหมที่เตรียมไว้สำหรับเป็นไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) ไปค่น (กรอ) ให้ได้ความยาวตามจำนวนผืนของผ้าไหมตามต้องการ ไหมหนึ่งเครือจะทำเป็นผ้าไหมได้ประมาณ 20 - 30 ผืน (ผ้าไหม 1 ผืน ยาวประมาณ
180 - 200 เซนติเมตร โดยใช้เครื่องมือในการ "ค่นหูก" เรียกว่า "หลักเผือ"

การย้อมไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) คือกรรมวิธีนำไหมเครือที่ค่นเสร็จเรียบร้อยแล้วไปย้อมสีในน้ำเดือด โดยเติมผงด่างคล้ายกรรมวิธี "การด่องไหม" สีที่นำมาย้อมนั้นจะต้องใช้สีให้กลมกลืนกับสีของหมี่ที่ใช้สำหรับทอ หรือย้อมให้เป็นสีเดียวกันก็ได้ แต่ส่วนมากชาวบ้านจะนิยมย้อมเป็นเป็นสีดำ เพราะจะเข้ากับสีของหมี่ที่ใช้ทอได้ทุกสี 

การสืบหูก คือกรรมวิธีนำเอาไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) ที่ย้อมสีแล้วไปต่อกับ "กกหูก" คือส่วนที่ติดอยู่กับ "ฟืม" 
ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการทอผ้าไหม "ฟืม" มีอยู่ 2 ชนิด คือ "ฟืมฟันไม้" (ฟันทำด้วยไม้) และ "ฟืมฟันเหล็ก" สมัยก่อนจะใช้ฟืมฟันไม้ทอผ้าไหมเท่านั้น เพราะยังไม่มีฟืมฟันเหล็ก ปัจจุบันมีผู้คิดค้นประดิษฐ์ฟืมฟันเหล็กขึ้นมาใช้ ส่วนประกอบที่สำคัญของฟืมอีกอย่างหนึ่ง คือ "เขา" หรือ "ตะกอ" มี 2 ชนิด คือ 2 เขา (สองตะกอ) และ 3 เขา (สามตะกอ) เขาหรือตะกอจะทำด้วยด้ายถักเรียงกับไม้ไผ่ที่เหลาเป็นเรียวให้ขนานกับฟืม ยาวเท่ากับความยาวของฟืมพอดี ถ้าฟืมมี 2 เขา (ตะกอ) จะเรียกกันว่า ฟืมสองเขาหรือสองตะกอ ถ้าฟืมมี 3 เขา (ตะกอ) จะเรียกกันว่า ฟืมสามเขาหรือสามตะกอ ส่วนของฟืมที่อยู่ด้านตรงข้ามกับเขาหรือตะกอ จะมีด้ายหรือไหมทำเป็น "กกหูก" หมายถึงส่วนที่จะนำไปต่อกับไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) วิธีการต่อเส้นไหมทั้งสงชนิดให้เป็นเส้นเดียวกันนี้เรียกว่า "การสืบหูก" 

การพันหูก คือกรรมวิธีนำเอาฟืมที่ผ่านการสืบหูกเรียบร้อยแล้วมาพันไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) ใหม่ให้เป็นระเบียบเพื่อนำไปทอเป็นผ้าไหมต่อไปอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับฟันหูก คือไม้กระดานยาวเท่ากับขนาดของฟืมหรือยาวกว่าเล็กน้อย
และจะต้องใส่ไม้ให้เรียบที่สุดเพื่อสะดวกในการพัน ในการพันหูกนี้จะต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วนและใจเย็นพอสมควร 
ถ้าเส้นไหมเครือขาดจะต้องทำการต่อเส้นไหมให้เรียบร้อยทุก ๆ เส้น

วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2557

ประเพณี”หวัวบุญเบิกฟ้าขึ้น๓ค่ำมหัศจรรย์เดือน๓” ปราสาทปรางค์กู่ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ

 




  ช่วงเวลา วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุก ๆ ปี (อยู่ระหว่างปลายเดือนมกราคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์)
ความสำคัญ ประเพณีบุญเบิกฟ้า เป็นประเพณีของชุมชนชาวกูยบ้านกู่ ต.กู่ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ที่ประกอบขึ้นตามความเชื่อว่า เมื่อถึงวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกๆ ปี ฟ้าจะเริ่มไขประตูฝน โดยจะมีเสียงฟ้าร้อง และทิศที่ฟ้าร้องเป็นสัญญาณบ่งบอกตัวกำหนดปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาหล่อเลี้ยงการเกษตรในปีนั้น

ตำนานโบราณกล่าวถึงทิศที่ฟ้าร้องว่า


๑.ทิศบูรพา มีครุฑเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูน้ำ ถ้าฟ้าร้องทิศนี้ฝนจะดี ข้าวกล้าในนาจะอุดมสมบูรณ์ คนทั้งปวงจะได้ทำบุญให้ทานอย่างเต็มที่
๒. ทิศอาคเนย์ มีแมวเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูลม ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะน้อย นาแล้ง คนจะอดอยาก และเกิดโรคระบาด
๓. ทิศทักษิณ มีราชสีห์เป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูทอง ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะมาก น้ำจะท่วมข้าวกล้าในนาเสียหายถึงสองในห้าส่วน นาลุ่มเสีย นาดอนดี มีปูปลาอุดมสมบูรณ์
๔. ทิศหรดี มีเสือเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูตะกั่วหรือประตูชิน ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะดี น้ำงามพอเหมาะ ผลหมากรากไม้อุดม ปูปลามีมาก ข้าวกล้าบริบูรณ์ ผู้คนมีความสุข
๕. ทิศปัจจิม มีนาคเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูเหล็ก ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะแล้ง น้ำน้อย ข้าวกล้าในนาแห้งตาย เสียหายหนัก
๖. ทิศพายัพ มีหนูเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูหินถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะตกปานกลาง ข้าวกล้าได้ผลกึ่งหนึ่ง เสียหายกึ่งหนึ่ง ปูปลามีน้อย คนจักป่วยไข้
๗. ทิศอุดร มีช้างเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูเงิน ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ ฝนจะดี ข้าวกล้าในนางอกงามดี คนมีสุขทั่วหน้า
๘. ทิศอีสาน มีงัวเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูดิน ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ ฝนจะดีตลอดปี ข้าวกล้าในนาจะงอกงามสมบูรณ์ดี คนจะมีความสุขเกษมตลอดปีอย่างถ้วนหน้า
ด้วยความเชื่อตามตำนานดังกล่าว จึงมีประเพณีบุญเบิกฟ้า (เดิมเรียกว่าบุญเบิกบ้าน) เพื่อขอพรจากแถน (เทพผู้เป็นใหญ่) ให้ไขประตูฟ้าทางทิศที่เป็นมงคล
อนึ่งในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ จะมีปรากฏการณ์มหัศจรรย์เกิดขึ้น ๓ อย่างคือ
๑. กบไม่มีปาก คือจะมีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นปิดรูกบเป็นอันว่าวันนั้นกบจำศีล ไม่ฆ่าสัตว์อื่น ๆ เป็นอาหาร
๒. นากไม่มีรูทวาร คือมีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นปิดทวารหนักของตัวนาก เป็นอันว่านากจะไม่ขับถ่ายในวันนั้น เพราะไม่ได้กินอาหาร
๓. มะขามป้อมจะมีรสหวาน


พิธีกรรม
พิธีกรรมบุญเบิกฟ้าชุมชนชาวกูย มี ๔ อย่างคือ
๑. จัดพิธีสู่ขวัญข้าว ชาวอีสานเรียกว่าทำบุญตุ้มปากเล้า
๒. หาบปุ๋ยคอก (ชาวอีสานเรียกว่าฝุ่น)ไปใส่ผืนนา
๓. ทำบุญเฮือน (ทำร่วมกับทำบุญปากเล้า)
๔. นำข้าวเปลือกเต็มกระบุงไปถวายวัด

มีลำดับขั้นตอนการทำพิธีต่าง ๆ ดังนี้
๑. พิธีสู่ขวัญข้าว เพื่อแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ เพื่อความสบายใจในการซื้อขายข้าว และเพื่อให้การแบ่งปันข้าวแก่ญาติมิตรผู้มาร่วมพิธี 
เครื่องบูชาหรือเครื่องคายในพิธีสู่ขวัญข้าว
๑. ใบคูน ๙ ใบ
๒. ใบยอ ๙ ใบ
๓. ขันหมากเบ็ง (พานบายศรี)ห้าชั้น ๒ ขัน
๔. กระทงใหญ่เก้าห้อง ใส่เครื่องบัดพลีต่าง ๆ มีหมากพลู บุหรี่ ข้าวตอก ดอกสามปีบ่เหี่ยว (บานไม่รู้โรย) ดอกรัก ถั่วงา อาหารคาวหวาน หมากไม้ เหล้าไห ไก่ตัว ไข่ไก่ ข้าวต้มมัด เผือก มัน มันแข็ง มันอ่อน มันนก ข้าวต้มใส่น้ำอ้อย
๕. ต้นกล้วย           ๖. ต้นอ้อย
๗. ขัน ๕ ขัน ๘ (พานใส่ดอกไม้และเทียนจำนวนอย่างละ ๕ คู่และ ๘ คู่ ตามลำดับ)
๘. เทียนกิ่ง             ๙. ธูป      ๑๐. ประทีป           ๑๑. แป้งหอม
๑๒. น้ำหอม           ๑๓. พานใส่แหวน หวี กระจก
๑๔. เครื่องนอน มีสาดอ่อน (เสื่อ) หมอนลาย หมอนพิง แป้งน้ำ
๑๕. ฟักแฟง ฟักทอง กล้วยตานี กล้วยอีออง (กล้วยน้ำว้า)
๑๖. เงินคาย ๑ บาทกับ ๑ เฟื้อง

๒. พิธีหาบฝุ่น(ปุ๋ยคอก)ใส่ผืนนาเพื่อบำรุงดิน พิธีการในตอนเช้ามืดของวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ชาวนาจะต้องหาบปุ๋ยคอกจากกองมูลวัว มูลควาย ซึ่งมักอยู่ใต้ถุนเรือนของตน ทยอยออกไปใส่ผืนนา จนกระทั่งถึงเที่ยงวัน จึงหยุด เป็นการเริ่มต้นเอาฝุ่น (ปุ๋ยคอก) ใส่นาในปีนั้น
๓. พิธีทำบุญเฮือนเพื่อนำสิริมงคลจากพระรัตนตรัยมาสู่ที่อยู่อาศัยพิธีการตอนเย็นนิมนต์พระภิกษุจำนวน ๕ หรือ ๙ รูป มาสวดมนต์เย็นที่บ้าน ตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นนิมนต์พระสงฆ์ชุดเดิมมาสวดมนต์เช้าที่บ้านแล้วทำบุญตักบาตรและถวายจังหันเช้า

๔. พิธีนำข้าวเปลือกเต็มกระบุงมาถวายวัดเพื่อแสดงความเคารพศรัทธาต่อพระสงฆ์ เนื่องจากคนอีสานโบราณนั้นมีศรัทธาแรงกล้าต่อพุทธศาสนา เมื่อได้สิ่งที่ดี ๆ ต้องนำไปถวายพระก่อน สมัยก่อนในวัดทุกวัดจะมียุ้งฉางข้าว (เล้าข้าว) ปลูกไว้ด้วย เมื่อญาติโยมบริจาคข้าวเปลือกก็นำมาเก็บไว้ในยุ้งฉาง เอาไว้แจกทานต่อผู้ยากไร้ในโอกาสต่อไป
พิธีการเมื่อถึงวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี จะตรงกับช่วงที่ชาวนานำข้าวเปลือกมาสู่เล้าหรือยุ้งฉางเสร็จใหม่ ๆ ชาวอีสานมีข้อคะลำหรือขะลำ (ข้อควรระวังหรือข้อห้าม) เกี่ยวกับข้าวว่า
๑. ถ้ายังไม่ทำพิธีสู่ขวัญข้าวห้ามตักข้าวออกจากยุ้งฉาง ถ้าจำเป็นต้องใช้บริโภคต้องกันจำนวนหนึ่งไว้ต่างหาก
๒. ห้ามตักข้าวในยุ้งฉางในวันศีลน้อยใหญ่ (วัน ๗-๘ ค่ำ และวัน ๑๔-๑๕ ค่ำ ทั้งขึ้นและแรม)



๓. ก่อนตักข้าวทุกครั้ง ต้องนั่งลงยกมือขึ้นพนมแล้วกล่าวคาถาว่า "บุญข้าว บุญน้ำเอย กินอย่าให้บก จกอย่าให้ลง" แล้วจึงตักได้
ดังนั้น ในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี จึงมีพิธีสู่ขวัญข้าว พิธีต้มปากเล้า พิธีเอาบุญเฮือน และตอนบ่าย ๆ ของวันนั้นจะนำข้าวเปลือกเต็มกระบุงไปถวายวัด แล้วจึงใช้ข้าวในยุ้งฉางเป็นประโยชน์ได้ตามอัธยาศัย



สาระประเพณีบุญเบิกฟ้า มีประโยชน์ต่อวิถีชีวิตและจิตใจของเกษตรกรคือ
๑. เป็นการเตรียมพร้อมที่จะลงมือทำการเกษตรได้ทันฤดูกาล เพราะเมื่อถึงเทศกาลบุญเบิกฟ้า พวกเขาย่อมได้ทำบุญให้เกิดขวัญและกำลังใจ ได้หาบปุ๋ยคอกบำรุงดิน แล้วเตรียมกาย เตรียมใจและเครื่องมือให้พร้อมที่จะทำนา
๒. เป็นผู้มีความเชื่อมั่นศรัทธาต่อพุทธศาสนา เพราะได้ทำบุญเป็นประจำทุกปี ทำให้รู้จักเสียสละไม่ตระหนี่ถี่เหนียว
๓. เป็นผู้มีความกตัญญูต่อผืนนา สิ่งแวดล้อม ดินฟ้าอากาศ ตลอดจนเทพต่าง ๆ ที่เชื่อว่าเป็นผู้บันดาลฝนและธัญญาหารเช่น พญาแถน และพระแม่โพสพ เป็นต้น
๔. เป็นผู้รู้จักประหยัดเช่น รู้จักเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางอย่างมีระเบียบ แม้แต่จะ ตักออกก็ยังมีพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ช่วยเตือนสติไม่ให้ใช้ข้าวอย่างสุรุ่ยสุร่าย ดังคำสอนของสมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าที่ว่า "นตฺถิ ธญฺญสม ธน" แปลว่า "ทรัพย์เสมอด้วยข้าวเปลือกไม่มี"







วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2557

การท่องเที่ยวโดยชุมชน

๑.การท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นเครื่องมือในการสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวบ้านในการนำเสนอ “ของดี” ชุมชนให้คนภายนอกได้รับรู้ ทำให้เกิดการสืบค้น ถ่ายทอด และฟื้นฟูวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น ชุมชนมีการบริหารจัดการและร่วมกันกำหนดว่าวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอะไรบ้างที่ชุมชนพร้อมใน
การนำเสนอและสร้างการเรียนรู้แก่ผู้มาเยือน ตลอดจนมีแนวทางปฏิบัติตัวสำหรับนักท่องเที่ยว
การที่มีนักท่องเที่ยวสนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมคนท้องถิ่น เป็นตัวกระตุ้นอีกทางหนึ่งที่ทำให้ชุมชนเกิดความภาคภูมิใจ และมีชีวิตชีวาในการนำเสนอข้อมูล สามารถสร้างการมีส่วนร่วมให้กับนักท่องเที่ยวในกิจกรรมทางวัฒนธรรมของตน สร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือน และทำให้เยาวชนคนรุ่นหลังเห็นคุณค่าของชุมชนตนเอง
๒.การท่องเที่ยวโดยชุมชน ช่วยให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมและกำหนดบทบาทของชุมชนต่อการท่องเที่ยว มีกระบวนการในการจัดการความรู้ภายในชุมชน มีการพัฒนาทักษะและเพิ่มเติมความรู้ใหม่ให้กับสมาชิกในชุมชนในการบริหารจัดการท่องเที่ยว สร้างความมั่นใจในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก มีความเชื่อมั่นให้คนในชุมชนในการนำเสนอ “ปัญหาและความต้องการ” กับหน่วยงานภายนอก นำเสนอประสบการณ์และความสำเร็จในการพัฒนากับคนและหน่วยงานที่มาศึกษา-ดูงาน นอกจากเป็นการพัฒนา “คนใน” แล้วยังให้การศึกษากับ “คนนอก” ด้วย
๓.การที่การท่องเที่ยวเป็นเพียงรายได้เสริม ทำให้ชาวบ้านไม่คิดพึ่งพารายได้หลักจากการท่องเที่ยว และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติต่อเนื่องไม่ว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวหรือไม่ก็ตาม

การพัฒนาชุมชน (Community Development)


การพัฒนาชุมชน  หมายถึง  การเสริมสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ  สังคมและวัฒนธรรมให้แก่ท้องถิ่นชนบททุกแห่งทุกส่วน  โดยการดำเนินการและการริเริ่มจากประชาชนเอง  การพัฒนาชุมชนต้องอาศัยความสามารถของรัฐบาลที่เป็นผู้แทนเข้าไปบริหารในด้านเครื่องมือ  เครื่องใช้  ตลอดจนกระตุ้นและเร้งเร้าให้ประชาชนมองเห็นปัญหาของตนเอง
          การพัฒนาชุมชน  เป็นขบวนการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น  โดยประชาชนเข้าร่วมมือหรือริเริ่มเอง  ถ้าประชาชนไม่รู้จักริเริ่มการใช้เทคนิคกระตุ้นเตือนให้เกิดการริเริ่ม  เมื่อประชาชนเข้าร่วมมือกับรัฐจึงทำให้เกิดบทบาทและกรรมวิธีขึ้นอีกเพราะประชาชนต้องปรึกษาหารือกันเอง  กำหนดความต้องการ  วางโครงการเองแล้วก็ร่วมมือกันเอง  แล้วร่วมมือกันปฏิบัติตามโครงการนั้นๆ  เพราะว่าวิธีที่ประชาชนคิดทำเอง มีความสำคัญยิ่งกว่าผลงานเสียอีก ตลอดจนความเชื่อมั่นในตนเอง
          การพัฒนาชุมชน  หมายถึง  ขบวนการที่กำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมและปรับปรุงภาวะต่างๆ  ทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่างๆ  ให้ดีขึ้น  ซึ่งเป็นการกระทำร่วมกันของผู้คนในท้องถิ่นนั้นเอง

จุดมุ่งหมายของการพัฒนาชุมชน
กำลังที่สำคัญจะสำเร็จได้สมความมุ่งหมาย ก็คือ  ประชาชน  โดยที่ประชาชนมีความต้องการมีความสามารถอยู่ในตัวประชาชนเอง  ซึ่งจัดได้ว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญ เช่น ความคิด  กำลังกาย  ฝีมือ  เป็นสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวบุคคลหรือประชาชน  ดังนั้น  จุดมุ่งหมายของการพัฒนาชุมชนก็คือ
1.  เพื่อยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  โดยวิธีการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับสังคม  และให้มีผลมากที่สุดเพื่อเป็นการผลิตรายได้ของประชาชนให้สูงขึ้น
2.  เพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขปรับปรุงชีวิตจิตใจ  และความรู้สึกของประชาชน  ให้มีความรู้สึกที่จะยกมาตรฐานความเป็นอยู่ของตน
3.  เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความกระตือรือร้นสนใจการทำงานในชุมชนและพยายามช่วยตนเองให้มากที่สุด


ประโยชน์ของการพัฒนาชุมชน
          ทางด้านการเมือง
              1.  ทำให้ประชาชนจงรักภักดีต่อรัฐบาล  เห็นว่ารัฐบาลไม่ทอดทิ้ง  สำนึกบุญคุณและเห็นความสำคัญของรัฐบาล  เพราะงานพัฒนารัฐบาลมุ่งเข้าช่วยเหลือประชาชนในทางตรงและเข้าถึงตัว
              2.  ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกรับผิดชอบ  รู้สึกเป็นเจ้าของประเทศยิ่งขึ้น  เพราะงานพัฒนาชุมชนเป็นงานที่ประชาชนช่วยเหลือตนเอง  โดยความสนับสนุนช่วยเหลือของรัฐบาล
              3.  อำนวยผลประโยชน์ในการปกครอง  เพราะงานพัฒนาชุมชนส่งเสริมงานด้านการปกครองช่วยลดและขจัดความแตกแยกห่างเห็น  ความกินแหนงแคลงใจ
              4.  งานพัฒนาชุมชนส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น  เพราะเป็นงานที่ส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักช่วยเหลือและสร้างสรรค์ความเจริญในท้องถิ่นร่วมกันเป็นแบบอาสาสมัคร
              5.  ช่วยให้ประชาชนเป็นฝ่ายรัฐบาล  ทำให้การรุกรานแทรกซึมของฝ่ายตรงข้ามไม่ได้ผล  เพราะปัจจุบันไทยเรามีภัยทางการเมืองเป็นสงครามจิตวิทยา  ต่อสู้กันในทางแย้งชิงประชาชน  ฝ่ายใดมีประชาชนสนับสนุนมากก็ได้เปรียบ
              6.  การพัฒนาชุมชนเป็นการสร้างสรรค์การอยู่ดีกินดีให้บังเกิดแก่ชุมชน  ถ้าทุกคนอยู่ดีมีสุขย่อมเป็นหลักประกันของความสำเร็จของการปกครองและความมั่นคงของชาติ
          ด้านเศรษฐกิจ
              1.  เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
              2.  การดำรงชีพดีขึ้น  มีรายได้มากขึ้น  มีข้าวของใช้มากขึ้น  ให้ความสะดวก  การหมุนเวียนของกระแสเงินดีขึ้น
              3.  รายได้ประชาชาติสูงขึ้น
          ด้านสังคม
              1.  ผลสำเร็จของการพัฒนาชุมชนจะส่งเสริมความเป็นอยู่ทางด้านอนามัย
              2.  ผลสำเร็จของการพัฒนาชุมชน จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำแตกต่างในเรื่องชนชั้นในสังคมให้น้อยลง  มีความเสมอภาคเป็นธรรมแก่สังคม
              3.  ผลสำเร็จของการพัฒนาชุมชน  จะส่งเสริมฐานะของสังคม  ทางการศึกษาโรงเรียนมีบทบาทที่สำคัญยิ่งนัก  โรงเรียนในโครงการพัฒนาชุมชนสร้างด้วยความร่วมมือของประชาชนในท้องถิ่นนั้นทำให้ประชาชนมีส่วนรับผิดชอบในการศึกษายิ่งขึ้น  มีความรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของ ให้การสนับสนุนดีขึ้น

หลักการพัฒนาชุมชน
          1.  ทุกคนในชุมชนต้องให้ความร่วมมือให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุดในการสร้างความเจริญหรือเปลี่ยนแปลงสภาพของท้องถิ่นนั้นให้ดี
          2.  ทุกคนในชุมชนควรจะได้รับการส่งเสริม  ให้ได้เข้าร่วมในการปฏิบัติงานตามแผนการปฏิบัติต่างๆ ตามโครงการพัฒนาชุมชน
          3.  จะต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นของตนโดยเสรี  เพื่อจะได้รับความคิดเห็นต่างๆ ตลอดจนความต้องการของผู้คนในท้องถิ่น
          4.  ผู้นำชุมชนควรที่จะได้รับการเปลี่ยนตัวกันบ้างตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและจะต้องมีการเตรียมตัวบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำชุมชนไว้หลายๆ คน
          5.  พึงให้การศึกษาแก่คนในชุมชนอยู่เสมอเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
          6.  หากจะต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานหรือองค์การนั้นจะต้องสามารถทำหน้าที่ได้อย่างดี  ไม่ใช่ว่าจัดตั่งหน่วยงานนั้นขึ้นเพื่อแสดงผลของการพัฒนาชุมชน
          7.  การปฏิบัติตามแผนการปฏิบัติต่าง ควรให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยเพื่อให้ผู้คนในท้องถิ่นได้รับรู้และเข้าใจวิธีการต่างๆ ของระบอบนี้ได้ถูกต้อง

วิธีการพัฒนาชุมชน
          1.  เกี่ยวกับด้านความคิดเห็นของผู้คนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนา  การพัฒนาหมายถึง  การแก้ไขปรับปรุงปัญหาหากท้องถิ่นนั้นมีจารีตประเพณีที่กีดกัน  การพัฒนาก็ดำเนินไปไม่ได้  ต้องให้การศึกษาให้คนในท้องถิ่นรู้เข้าใจและยอมรับวามีปัญหาอะไรบ้าง  มีวิธีการแก้ไขอย่างไร  จากนั้นจะได้วางโครงการปฏิบัติงานต่อไป
          2.  เกี่ยวกับด้านผู้มีอาชีพที่จะเป็นผู้น���ของชุมชน  มีหน้าที่ช่วยเหลือแก่คนที่มีส่วนร่วม  ในทางการพัฒนาชุมชนให้สามารถดำเนินไปได้  ผู้นำต้องให้ประสบการณ์เป็นการเรียนรู้  แก่คนในชุมชนมากกว่าเป็นผู้วางแผน  ไม่เพ่งเล็งหนักไปในทางสร้างสะพาน  ขุดบ่อ  จัดระเบียบสังคม  แต่ต้องให้คนในชุมชนรู้ตัวหรือเกิดความเข้าใจว่าเขามีหน้าที่และความสำคัญที่จะต้องเข้าร่วมมืออย่างจริงใจในการพัฒนาชุมชนของตน
          3.  เกี่ยวกับด้านนักสำรวจ  นักวิจัย  ค้นหาวิธีการต่างๆ  ที่จะให้เข้าใจกระบวนการในการให้การศึกษาแก่ผู้นำชุมชน

กระบวนการพัฒนาชุมชน
          ขั้นแรก
              ประชุมปรึกษาหารือร่วมกันตามแนวทางที่ได้จัดวางไว้  เป็นการปรึกษาเกี่ยวกับความจำเป็นของสมาชิกในชุมชนจะได้รู้ว่ามีอะไรที่มีความต้องการบ้าง  คนในชุมชนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันจัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือตนเอง
          ขั้นที่สอง
              วางแผนไว้อย่างเป็นระเบียบสำหรับงานที่คนในชุมชนตกลงเลือก  สิ่งสำคัญต้องรู้งานนั้น  ต้องอยู่ในลักษณะที่ชุมชนนั้นช่วยตัวเองได้  เช่น  ต้องการทำเพื่อการกสิกรรม  ก็เพียงระบายน้ำจากคลองคูไม่ถึงกับคิดสร้างเขื่อนใหญ่กักน้ำหรือกรณีต้องการปุ๋ย  ก็มิได้คิดไกลถึงตั้งโรงงานทำปุ๋ย  เปิดตลาดซื้อขายไม่อยู่ในลักษณะคนในชุมชนจะช่วยกันทำให้เป็นเรื่องของรัฐบาลมากกว่า
          ขั้นที่สาม
              การสนับสนุนให้คนในชุมชนทำประโยชน์ให้ได้มากที่สุดตามที่แต่ละคนจะมีทางทำได้
            ขั้นที่สี่
              สร้างความปรารถนาและความตกลงใจในดันหนึ่งอันที่จะดำเนินการ  เพื่อปรับปรุงของชุมชนต่อไป  ให้เกิดขึ้นในจิตใจของคนในชุมชนแห่งนั้น  ผู้คนที่จะมาร่วมพัฒนาท้องถิ่นของตนโดยแท้จริงนั้นจะเข้าใจและรู้ได้ว่ายังมีการปรับปรุงอย่างอื่นจะต้องทำอีก  ผู้ที่มีส่วยช่วยย่อมภาคภูมิใจในผลสำเร็จของงาน  ถ้าไม่มีกระบวนการพัฒนานี้ขึ้น  การพัฒนาก็ไม่มีผล  เช่น  รัฐบาลเสนอให้คนทำตาม

สิ่งที่พึงกระทำก่อนในการพัฒนาชุมชน
          สิ่งใดที่จะพึงกระทำก่อนหลัง  ย่อมต้องเป็นไปตามความต้องการของผู้คนในท้องถิ่นเป็นสำคัญย่อมแล้วแต่สภาพของท้องถิ่น  ความต้องการพื้นฐานนั้นผู้คนจะแสดงออกให้เห็นได้แจ้งชัด  ถือว่าเป็นปัญหาสังคม  ซึ่งผู้คนเหล่านั้นต้องการให้หมดไป  หรือปรับปรุงให้ดีขึ้นและสิ่งที่พึงกระทำก่อนในการพัฒนาชุมชน คือ
          1.  การป้องกัน  ได้แก่  การรักษาความสงบสุขของผู้คนในท้องถิ่น
          2.  การอนามัยเบื้องต้น  ได้แก่  ความสะอาด  สุขภาพ  ร่างกาย  โภชนาการที่เหมาะสม
          3.  การเศรษฐกิจ  ให้มีกินมีใช้มากกว่าเดิม
          4.  การศึกษา  ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
       5.  นันทนาการ  มีสถานที่และอุปกรณ์เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ  หาความสำราญและใช้เวลาว่าให้เป็นประโยชน์
          6.  การให้บริการทางสังคมและสิ่งอำนวยความสุข  มีการสังคมสงเคราะห์และบริการที่จำเป็น


 
ไพศาล  สรรสรวิสุทธิ์.  (2550).  การพัฒนาชุมชน.  รัฐศาสตร์สาส์น,  1 (2550), 11-14.