การพัฒนาชุมชน เป็นขบวนการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น โดยประชาชนเข้าร่วมมือหรือริเริ่มเอง ถ้าประชาชนไม่รู้จักริเริ่มการใช้เทคนิคกระตุ้นเตือนให้เกิดการริเริ่ม เมื่อประชาชนเข้าร่วมมือกับรัฐจึงทำให้เกิดบทบาทและกรรมวิธีขึ้นอีกเพราะประชาชนต้องปรึกษาหารือกันเอง กำหนดความต้องการ วางโครงการเองแล้วก็ร่วมมือกันเอง แล้วร่วมมือกันปฏิบัติตามโครงการนั้นๆ เพราะว่าวิธีที่ประชาชนคิดทำเอง มีความสำคัญยิ่งกว่าผลงานเสียอีก ตลอดจนความเชื่อมั่นในตนเอง
การพัฒนาชุมชน หมายถึง ขบวนการที่กำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมและปรับปรุงภาวะต่างๆ ทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่างๆ ให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นการกระทำร่วมกันของผู้คนในท้องถิ่นนั้นเอง
จุดมุ่งหมายของการพัฒนาชุมชน
กำลังที่สำคัญจะสำเร็จได้สมความมุ่งหมาย ก็คือ ประชาชน โดยที่ประชาชนมีความต้องการมีความสามารถอยู่ในตัวประชาชนเอง ซึ่งจัดได้ว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญ เช่น ความคิด กำลังกาย ฝีมือ เป็นสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวบุคคลหรือประชาชน ดังนั้น จุดมุ่งหมายของการพัฒนาชุมชนก็คือ
1. เพื่อยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยวิธีการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับสังคม และให้มีผลมากที่สุดเพื่อเป็นการผลิตรายได้ของประชาชนให้สูงขึ้น
2. เพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขปรับปรุงชีวิตจิตใจ และความรู้สึกของประชาชน ให้มีความรู้สึกที่จะยกมาตรฐานความเป็นอยู่ของตน
3. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความกระตือรือร้นสนใจการทำงานในชุมชนและพยายามช่วยตนเองให้มากที่สุด
ประโยชน์ของการพัฒนาชุมชน
ทางด้านการเมือง
1. ทำให้ประชาชนจงรักภักดีต่อรัฐบาล เห็นว่ารัฐบาลไม่ทอดทิ้ง สำนึกบุญคุณและเห็นความสำคัญของรัฐบาล เพราะงานพัฒนารัฐบาลมุ่งเข้าช่วยเหลือประชาชนในทางตรงและเข้าถึงตัว
2. ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกรับผิดชอบ รู้สึกเป็นเจ้าของประเทศยิ่งขึ้น เพราะงานพัฒนาชุมชนเป็นงานที่ประชาชนช่วยเหลือตนเอง โดยความสนับสนุนช่วยเหลือของรัฐบาล
3. อำนวยผลประโยชน์ในการปกครอง เพราะงานพัฒนาชุมชนส่งเสริมงานด้านการปกครองช่วยลดและขจัดความแตกแยกห่างเห็น ความกินแหนงแคลงใจ
4. งานพัฒนาชุมชนส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเป็นงานที่ส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักช่วยเหลือและสร้างสรรค์ความเจริญในท้องถิ่นร่วมกันเป็นแบบอาสาสมัคร
5. ช่วยให้ประชาชนเป็นฝ่ายรัฐบาล ทำให้การรุกรานแทรกซึมของฝ่ายตรงข้ามไม่ได้ผล เพราะปัจจุบันไทยเรามีภัยทางการเมืองเป็นสงครามจิตวิทยา ต่อสู้กันในทางแย้งชิงประชาชน ฝ่ายใดมีประชาชนสนับสนุนมากก็ได้เปรียบ
6. การพัฒนาชุมชนเป็นการสร้างสรรค์การอยู่ดีกินดีให้บังเกิดแก่ชุมชน ถ้าทุกคนอยู่ดีมีสุขย่อมเป็นหลักประกันของความสำเร็จของการปกครองและความมั่นคงของชาติ
ด้านเศรษฐกิจ
1. เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
2. การดำรงชีพดีขึ้น มีรายได้มากขึ้น มีข้าวของใช้มากขึ้น ให้ความสะดวก การหมุนเวียนของกระแสเงินดีขึ้น
3. รายได้ประชาชาติสูงขึ้น
ด้านสังคม
1. ผลสำเร็จของการพัฒนาชุมชนจะส่งเสริมความเป็นอยู่ทางด้านอนามัย
2. ผลสำเร็จของการพัฒนาชุมชน จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำแตกต่างในเรื่องชนชั้นในสังคมให้น้อยลง มีความเสมอภาคเป็นธรรมแก่สังคม
3. ผลสำเร็จของการพัฒนาชุมชน จะส่งเสริมฐานะของสังคม ทางการศึกษาโรงเรียนมีบทบาทที่สำคัญยิ่งนัก โรงเรียนในโครงการพัฒนาชุมชนสร้างด้วยความร่วมมือของประชาชนในท้องถิ่นนั้นทำให้ประชาชนมีส่วนรับผิดชอบในการศึกษายิ่งขึ้น มีความรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของ ให้การสนับสนุนดีขึ้น
หลักการพัฒนาชุมชน
1. ทุกคนในชุมชนต้องให้ความร่วมมือให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุดในการสร้างความเจริญหรือเปลี่ยนแปลงสภาพของท้องถิ่นนั้นให้ดี
2. ทุกคนในชุมชนควรจะได้รับการส่งเสริม ให้ได้เข้าร่วมในการปฏิบัติงานตามแผนการปฏิบัติต่างๆ ตามโครงการพัฒนาชุมชน
3. จะต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นของตนโดยเสรี เพื่อจะได้รับความคิดเห็นต่างๆ ตลอดจนความต้องการของผู้คนในท้องถิ่น
4. ผู้นำชุมชนควรที่จะได้รับการเปลี่ยนตัวกันบ้างตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและจะต้องมีการเตรียมตัวบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำชุมชนไว้หลายๆ คน
5. พึงให้การศึกษาแก่คนในชุมชนอยู่เสมอเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
6. หากจะต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานหรือองค์การนั้นจะต้องสามารถทำหน้าที่ได้อย่างดี ไม่ใช่ว่าจัดตั่งหน่วยงานนั้นขึ้นเพื่อแสดงผลของการพัฒนาชุมชน
7. การปฏิบัติตามแผนการปฏิบัติต่าง ควรให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยเพื่อให้ผู้คนในท้องถิ่นได้รับรู้และเข้าใจวิธีการต่างๆ ของระบอบนี้ได้ถูกต้อง
วิธีการพัฒนาชุมชน
1. เกี่ยวกับด้านความคิดเห็นของผู้คนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนา การพัฒนาหมายถึง การแก้ไขปรับปรุงปัญหาหากท้องถิ่นนั้นมีจารีตประเพณีที่กีดกัน การพัฒนาก็ดำเนินไปไม่ได้ ต้องให้การศึกษาให้คนในท้องถิ่นรู้เข้าใจและยอมรับวามีปัญหาอะไรบ้าง มีวิธีการแก้ไขอย่างไร จากนั้นจะได้วางโครงการปฏิบัติงานต่อไป
2. เกี่ยวกับด้านผู้มีอาชีพที่จะเป็นผู้น���ของชุมชน มีหน้าที่ช่วยเหลือแก่คนที่มีส่วนร่วม ในทางการพัฒนาชุมชนให้สามารถดำเนินไปได้ ผู้นำต้องให้ประสบการณ์เป็นการเรียนรู้ แก่คนในชุมชนมากกว่าเป็นผู้วางแผน ไม่เพ่งเล็งหนักไปในทางสร้างสะพาน ขุดบ่อ จัดระเบียบสังคม แต่ต้องให้คนในชุมชนรู้ตัวหรือเกิดความเข้าใจว่าเขามีหน้าที่และความสำคัญที่จะต้องเข้าร่วมมืออย่างจริงใจในการพัฒนาชุมชนของตน
3. เกี่ยวกับด้านนักสำรวจ นักวิจัย ค้นหาวิธีการต่างๆ ที่จะให้เข้าใจกระบวนการในการให้การศึกษาแก่ผู้นำชุมชน
กระบวนการพัฒนาชุมชน
ขั้นแรก
ประชุมปรึกษาหารือร่วมกันตามแนวทางที่ได้จัดวางไว้ เป็นการปรึกษาเกี่ยวกับความจำเป็นของสมาชิกในชุมชนจะได้รู้ว่ามีอะไรที่มีความต้องการบ้าง คนในชุมชนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันจัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือตนเอง
ขั้นที่สอง
วางแผนไว้อย่างเป็นระเบียบสำหรับงานที่คนในชุมชนตกลงเลือก สิ่งสำคัญต้องรู้งานนั้น ต้องอยู่ในลักษณะที่ชุมชนนั้นช่วยตัวเองได้ เช่น ต้องการทำเพื่อการกสิกรรม ก็เพียงระบายน้ำจากคลองคูไม่ถึงกับคิดสร้างเขื่อนใหญ่กักน้ำหรือกรณีต้องการปุ๋ย ก็มิได้คิดไกลถึงตั้งโรงงานทำปุ๋ย เปิดตลาดซื้อขายไม่อยู่ในลักษณะคนในชุมชนจะช่วยกันทำให้เป็นเรื่องของรัฐบาลมากกว่า
ขั้นที่สาม
การสนับสนุนให้คนในชุมชนทำประโยชน์ให้ได้มากที่สุดตามที่แต่ละคนจะมีทางทำได้
ขั้นที่สี่
สร้างความปรารถนาและความตกลงใจในดันหนึ่งอันที่จะดำเนินการ เพื่อปรับปรุงของชุมชนต่อไป ให้เกิดขึ้นในจิตใจของคนในชุมชนแห่งนั้น ผู้คนที่จะมาร่วมพัฒนาท้องถิ่นของตนโดยแท้จริงนั้นจะเข้าใจและรู้ได้ว่ายังมีการปรับปรุงอย่างอื่นจะต้องทำอีก ผู้ที่มีส่วยช่วยย่อมภาคภูมิใจในผลสำเร็จของงาน ถ้าไม่มีกระบวนการพัฒนานี้ขึ้น การพัฒนาก็ไม่มีผล เช่น รัฐบาลเสนอให้คนทำตาม
สิ่งที่พึงกระทำก่อนในการพัฒนาชุมชน
สิ่งใดที่จะพึงกระทำก่อนหลัง ย่อมต้องเป็นไปตามความต้องการของผู้คนในท้องถิ่นเป็นสำคัญย่อมแล้วแต่สภาพของท้องถิ่น ความต้องการพื้นฐานนั้นผู้คนจะแสดงออกให้เห็นได้แจ้งชัด ถือว่าเป็นปัญหาสังคม ซึ่งผู้คนเหล่านั้นต้องการให้หมดไป หรือปรับปรุงให้ดีขึ้นและสิ่งที่พึงกระทำก่อนในการพัฒนาชุมชน คือ
1. การป้องกัน ได้แก่ การรักษาความสงบสุขของผู้คนในท้องถิ่น
2. การอนามัยเบื้องต้น ได้แก่ ความสะอาด สุขภาพ ร่างกาย โภชนาการที่เหมาะสม
3. การเศรษฐกิจ ให้มีกินมีใช้มากกว่าเดิม
4. การศึกษา ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
5. นันทนาการ มีสถานที่และอุปกรณ์เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ หาความสำราญและใช้เวลาว่าให้เป็นประโยชน์
6. การให้บริการทางสังคมและสิ่งอำนวยความสุข มีการสังคมสงเคราะห์และบริการที่จำเป็น
ไพศาล สรรสรวิสุทธิ์. (2550). การพัฒนาชุมชน. รัฐศาสตร์สาส์น, 1 (2550), 11-14.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น