วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559

หมู่บ้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ บ้านกู่ ตอนที่๑



หมู่บ้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ บ้านกู่ ชุมชนชาวกูยบ้านกู่ ตำบลกู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ
“เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ เป็นชุมชนแห่งการพัฒนา และเป็นชุมชนแห่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม”บ้านกู่เป็นหมู่บ้านที่มีการก่อตั้งมาช้านานเป็นระยะเวลาประมาณเกือบสามร้อยกว่าปี (ประมาณเอาจากพุทธศักราช ที่ก่อตั้งวัดบ้านกู่)  จากการบอกเล่าของผู้สูงอายุในหมู่บ้าน  ชุมชนชาวกูยบ้านกู่ได้อพยพมาจากบ้านอาเลา ไม่ทราบแน่ชัดว่ามาจากอำเภออะไร ผู้ที่อพยพมาก่อตั้งเป็นคนแรกคือ “ตาโก”  เนื่องจากทำเลของหมู่บ้านอยู่ติดสระน้ำหรือสระกู่  พื้นที่เป็นเนินสูง  สภาพรอบหมู่บ้านมีเนินดินคล้ายกำแพงกั้นเรียกว่า “คูเมือง”  เหมาะแก่การตั้งรกรากที่อยู่อาศัย สภาพภายในหมู่บ้าน การปลูกสร้างบ้านหรือที่อยู่อาศัยจะปลูกลักษณะติดกันเหมือนเป็นการเกาะกลุ่มกันอยู่ บ้านแต่ละหลัง หลังคาบ้านแทบจะซ้อนกันก็มี ตรอก/ซอยหรือทางเดินแต่ละซอยกว้างประมาณ  ๒.๕๐ เมตร แค่เกวียนผ่านเข้าออกได้  หรือให้วัวควายเดินเข้าคอกได้ก็พอ  ซึ่งคนโบราณมักจะทำคอกวัวคอกควายไว้ใต้ถุนบ้านและเนินดินที่คล้ายกำแพงหมู่บ้านจะอยู่รอบนอก  การทำนาแต่ก่อนนั้นต้องใช้ควายไถและได้ขี้ควายใช้เป็นปุ๋ยคอกอย่างดีไปใส่นาข้าว  ชาวกูยบ้านกู่ทุกหลังคาเรือนจึงต้องมีควายไว้ใช้งาน “ตาโก” จึงเป็นคนกลุ่มแรกที่ตั้งรกรากและสืบทอดลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน  และมีวัดบ้านกู่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เมื่อชุมชนขยายเพิ่มมากขึ้น ลูกหลานจึงได้แยกครัวเรือนออกไปอยู่ตามหัวไร่ปลายนา 



 คำขวัญของชุมชนหรือประโยคที่แสดงถึงความโดดเด่นของชุมชนที่สามารถดึงดูดใจให้มาเยี่ยมชุมชน
               “ ปรางค์กู่คู่บ้าน สระกู่คู่เมือง  ลือเลื่องวัฒนธรรม เลิศล้ำสามัคคี
                  มีวงมโหรี      ผลิตข้าวเกษตรอินทรีย์    ของดีหลวงปู่งาม”

ขั้นตอนการผลิต
              ๑. นำตัวหม่อนมาวางใส่กระด้งให้พอดีกับกระด้ง ไม่เบียดกันเกินไป  เลี้ยงโดยให้ใบหม่อน ๑ กำมือ ต่อ ๑ กระด้ง จนตัวหม่อนลากคราบครั้งที่ ๑  ให้เพิ่มใบหม่อน ประมาณ ๒ กำมือ  ตัวหม่อนลากคราบครั้งที่ ๒ ให้เพิ่มใบหม่อน ประมาณ ๓ กำมือ ตัวหม่อนลอกคราบครั้งที่ ๓  ให้เพิ่มใบหม่อน ประมาณ ๔ กำมือ ในช่วงที่ตัวหม่อนลอกคราบจะต้องหยุดให้อาหาร ๒๔ ชั่วโมงหลักจากนั้นก็ให้อาหารตามปกติ เมื่อตัวหม่อนลอกคราบครั้งที่ ๔  ก็ให้ใบหม่อนต่อไปเรื่อยๆจนตัวหม่อนสุก  หลังจากนั้นให้คัดตัวหม่อนที่สุกแล้วไปใส่ไว้ในจ่อ  ในช่วงนี้ให้หยุดการให้ใบหม่อนเพื่อจะได้ให้ตัวหม่อนรีบทำฝักและทำรัง เมื่อตัวหม่อนเข้าไปอยู่ในฝักราว 3 วันตัวหม่อนก็จะยุบตัวเล็กลงเรียกว่า ตัวดักแด้ ลองจับฝักเขย่าดูปรากฏว่ามีเสียงดังขลุก ๆ อยู่ภายในแล้วแสดงว่าใช้ได้


              ๒. นำรังไหมที่ได้มาสาวเป็นเส้นไหม  โดยการต้มน้ำให้เดือนก่อน  แล้วนำรังไหมใส่ลงในหม้อต้มประมาณ ๓๐ นาที โดยให้คนประมาณ ๒-๓ ครั้ง เพื่อให้รังไหมสุกทั่วกัน แล้วเอาไม้ขืนชะรังไหมเบาๆ เส้นไหมก็จะติดกับไม้ขืนขั้นมา จึงนำมาสอดที่รูตรงกลางของเครื่องพวงสาว แล้วนำไปถักเกรียวที่รอกพวงสาวให้เส้นไหมตรง และสาวให้พ้นรอก ๑  รอบ เวลาสาวไหม จะใช้มือทั้งสองข้าง  โดยมือหนึ่งจะสาวไหมจากรอกลงใส่กระบุงหรือตะกร้ารองรับเส้นไหม ส่วนอีกมือหนึ่งถือไม้ขืน เพื่อกดและเขย่ารังไหมที่อยู่ในหม้อเพื่อจะได้เส้นไหมที่สม่ำเสมอและสวยงาม  การสาวไหมนั้นต้องหมั่นเติมน้ำเย็นลงไปเป็นระยะระวังอย่าให้น้ำถึงกับเดือด เพราะจะทำให้เส้นไหมไม่สวย รังไหมจะเละ หลังจากที่สาวไหมหมดแล้ว นำเส้นไหมมาเข้าเครื่องเล่งเพื่อทำเป็นใจ แล้วตากให้แห้ง
              ๓. หลังจากได้เส้นไหมที่แห้งแล้ว ให้นำมาฟอก  โดยนำเส้นไหมลงแช่ในดั่งจนไหมนิ่ม แล้วนำลงต้มในน้ำเดือน ประมาณ ๓๐ นาที  จึงนำไปผึ่งแดดให้แห้ง  แล้วนำมาล้างน้ำให้สะอาด และนำไปตากแดดให้แห้งเส้นไหมที่ฟอกแล้วจะนิ่ม และเงางาม

             ๖. นำเส้นไหมที่ฟอกแล้วมาย้อมมะเกลือ โดยนำลูกมะเกลือที่ไม่สุก มาตำให้ละเอียด แล้วใส่ใบมันเทศลงไปตำด้วยกันจนละเอียด นำมะเกลือที่ตำแล้วไปผสมกับน้ำ ในอัตรา มะเกลือ ๑ ส่วน ต่อน้ำ ๒ ส่วน น้ำที่จะผสมกับมะเกลือให้ละลายปูนขาวที่ใช้เคี้ยวหมาก ก้อนประมาณนิ้วหัวแม่มือ เมื่อส่วนผสมเข้ากันแล้ว ให้นำไหมลงย้อมในน้ำมะเกลือ แล้วนำขึ้นไปตากให้แห้ง  และนำมาย้อมใหม่ตามวิธีเดิม จนกว่าจะได้สีดำตามที่ต้องการ เมื่อย้อมจนได้สีตามที่ต้องการแล้ว ให้นำไปหมักในน้ำโคลน เพื่อให้สีติดทนนาน แล้วนำไปตากแดดจนแห้ง  หลังจากนั้นให้นำมาล้างน้ำสะอาดจนหมดโคลน แล้วนำไปต้มในน้ำเดือด ประมาณ ๑๕ นาที  แล้วนำผ้าไปตากแดดจนแห้ง เสร็จแล้วก็จะได้เส้นไหมย้อมมะเกลือ สีดำ สวยงาม
             ๔. นำไหมที่ย้อมแล้วมาเดินเส้นยืน โดยนำมาใส่กง ปั่นเข้าอัก เสร็จแล้วนำมาเดินเส้นยืนใส่หลักเผือ ตามขนาดของฟันฟืม เสร็จแล้วนำไปขึงกับไม้ฟันเส้นยืน เพื่อให้เส้นยืนตึง สม่ำเสมอ แล้วนำมาต่อเข้าฟืม ในการต่อเข้าฟืมต้องใช้คนทำ ๒ คน เนื่องจากต้องมีคนสอดเส้นไหม และคนแหวกฟันฟืม  หลังจากที่ต่อเข้าฟืมแล้วให้  นำมาเก็บเข้าตะกรอสำหรับทอตามขนาดดอกที่ต้องการ ๔ หรือ ๕ ตะกรอ
             ๕  นำไหมที่ย้อมแล้วมาเตรียมเส้นพุ่ง  โดยนำอักไหมมาใส่ในหลา เพื่อปั่นใส่หลอดพอประมาณ ก็จะได้เส้นไหมในหลอดเตรียมใส่กระสวยสำหรับใช้ในการทอ 


             ๖. เมื่อได้ไหมที่เดินเส้นยืนและเส้นพุ่งแล้ว ก็เข้าสู่การทอ วิธีการทำเริ่มแรกให้เหยียบไม้เท้า ครั้งที่ ๑ ให้เหยียบไม้ที่ ๑และ๒ พร้อมกัน นับจากด้านซ้าย แล้วสอดกระสวย ในการสอดกระสวยครั้งแรก ให้จับเส้นด้ายฝั่งที่สอดกระสวยไว้ เพื่อยึดเส้นด้าย หลังจากที่สอดกระสวยพ้นแล้วให้ดังเส้นไหมให้ดึงแล้วปล่อยเท้าที่เหยียบไม้เท้าออก แล้วกระทบฟืม ๑ ถึง ๒ ครั้ง  ครั้งที่สองเหยียบไม้ที่ ๓ ๔ ๕ พร้อมกัน แล้วสอดกระสวย กระทบฟืมเหมือนเดิม  ครั้งที่สามเหยียบไม้ที่ ๑ ๓ พร้อมกัน แล้วสอดกระสวย กระทบฟืม  ครั้งที่ ๔ เหยียบไม้ที่ ๒ ๔ ๕ พร้อมกัน แล้วสอดกระสวย กระทบฟืม  ครั้งที่ห้า เหยียบไม้ที่ ๑ ๒ ๔พร้อมกัน  ครั้งที่หก เหยียบไม้ที่ ๓ ๕ พร้อมกัน  ครั้งที่เจ็ด เหยียบไม้ ๑ ๒ ๔ พร้อมกัน  ครั้งที่แปด เหยียบไม้ที่ ๓ ๕ พร้อมกัน เมื่อครบเจ็ดครั้ง จะได้ลวดลายออกมาเป็นลายลูกแก้ว และให้ทอโดยการเหยียบไม้ซ้ำเหมือนเดิมตั้งแต่ครั้งที่หนึ่งถึงเจ็ด จนไหมหมด ก็จะได้ผ้าไหมย้อมมะเกลือลายลูกแก้วที่มีสีดำ เงางาม สีไม่ตก           

ประวัติปราสาทปรางค์กู่



เชิญเที่ยวชมโบราณสถานปราสาทปรางค์กู่
“ปรางค์กู่คู่บ้าน  สระกู่คู่เมือง
ลือเลื่องวัฒนธรรม  เลิศล้ำสามัคคี
ผลิตข้าวเกษตรอินทรีย์ ของดีหลวงปู่งาม”




  


ปราสาทปรางค์กู่  ภาษากูยเรียกว่า “เถียด เซาะโก”  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ลักษณะเป็นปราสาท  3 หลัง สร้างเป็นแนวเรียงหน้ากระดานจากทิศใต้ไปทิศเหนือ ตั้งอยู่บนฐานที่สร้างด้วยหินศิลาแลงทั้งหมด ปราสาทหลังที่ 1 และ 2 สร้างด้วยอิฐมอญขนาดใหญ่ เสาแกะสลักลวดลายติดขอบประตูเพื่อรองรับทับหลัง เสาและทับหลังสร้างด้วยหินทราย ส่วนปราสาทหลังทิศเหนือเป็นหลังเดียวที่สร้างจากหินศิลาแลง มีเสาแกะสลักลวดลาย และทับหลังที่สร้างจากหินทรายเช่นกัน ยอดปราสาทเป็นบัวตูมมีลักษณะเช่นเดียวกันกับปราสาทศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์


   
ปัจจุบันยอดปราสาทได้พังทลายลง ทับหลังและเสาติดขอบประตูได้ถูกโจรลักขโมยไปวัตถุบางชิ้นก็ตามกลับคืนมาได้และเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา มีหลายชิ้นที่นำมาเก็บไว้ที่วัดบ้านกู่ ปราสาทปรางค์กู่สร้างเมื่อ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สมัยขอมเรืองอำนาจ สันนิษฐานว่าสร้างเพื่อใช้เป็นเทวสถาน ในสภาพที่ล้อมรอบด้วยสระน้ำ ซึ่งสภาวัฒนธรรมตำบลกู่ได้มีการสร้างทับหลังจำลอง ความกว้างเท่าของจริงมาตั้งไว้บนฐานด้านหน้าตัวปราสาทเพื่อให้ผู้คนที่มาเที่ยวชมได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป และปราสาทปรางค์กู่นั้นยังเป็นสถานที่ที่ชุมชนชาวกูยให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง หากมีกิจกรรมในหมู่บ้าน หรือศาสนพิธีต่างๆ ก็จะมีการนำเครื่องเซ่นไหว้มาบอกกล่าวที่ปราสาทปรางค์กู่ให้รับทราบ ซึ่งชาวกูยบ้านกู่ได้สมมติชื่อวิญญาณที่สิงสถิต ณ ปราสาทกู่ว่า“ปู่พัทธเสน” และใช้เรียกขานชื่อนี้ในการเซ่นไหว้ตลอดมา







ปรางค์กู่ เป็นศาสนสถานที่ได้รับอิทธิพลศิลปะเขมร ตั้งอยู่บริเวณบ้านกู่ ตำบลกู่ อำเภอปรางค์กู่ โดยอยู่ห่างจากตัวอำเภอปรางค์กู่ประมาณ 5 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากจังหวัดศรีสะเกษประมาร 65 กิโลเมตร กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2478 และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเป็นพื้นที่ประมาณ 12 ไร่ 2 งาน 39 ตารางวา ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 155 วันที่ 21 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2525

 ปรางค์กู่ตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านกู่ ซึ่งมีลักษณะเป็นเมืองโบราณที่มีคูน้ำ คันดินล้อมรอบทาง  ทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตก ส่วนทางทิศเหนือเป็นสระขนาดใหญ่ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 350 x 700 เมตร พื้นที่ภายในเมืองโบราณมีบ้านเรือนราษฎรปลูกอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น บริเวณรอบนอกเมืองโบราณเป็นทุ่งนาเพาะปลูกข้าว ห่างออกไปทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านประมาณ 200 เมตร เป็นที่ตั้งของปราสาทปรางค์กู่ โดยอยู่ห่างจากสระประมาณ 200 เมตร






ทับหลังแผ่นที่ 1 เป็นชิ้นส่วนทับหลังประดับประตูปรางค์องค์ทิศใต้ โดยจำหลักเป็นภาพพระนารายณ์สี่กรถือสังข์ จักร คธา และดอกบัวยืนอยู่บนปีกครุฑ ก็ยืนเหยียบอยู่บนหลังสิงห์ 2 ตัว ที่หันหลังให้กัน สิงห์ทั้ง 2 ตัวคายท่อนพวงมาลัยออกมา โดยใช้มือยึดจับท่อนพวงมาลัยไว้ด้วยที่ปลายท่อนพวงมาลัยนั้นจำหลักเป็นรูปเทวดานคราชออกมาเห็นในด้านข้าง 3 เศียร

  
ส่วนแถวบนของทับหลังจำหลักภาพเทวดาในท่าฟ้อนรำ ประกอบอยู่ 2 ด้าน ด้านละ 3 องค์ ทั้งพระนารายณ์ และเทวดาจะอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว และริมสุดของภาพจำหลักแถวบนมีเทวดานั่งอีกด้านละ 1 องค์
ลักษณะการนุ่งผ้าของพระนารายณ์หรือวิษณุ จะนุ่งผ้าเว้าลงใต้สะดือ มีชายผ้าปล่อยยาวลงด้านหน้าหยัก 3 ชั้น สำหรับท่อนพวงมาลัยที่สิงห์คายออกมา จำหลักเป็นลายกลีบบัวหรือดอกบัวบานหันเข้าหากันเป็นคู่ๆ แต่ละคู่คั่นด้วยเส้นลวดบัว ใต้ท่อนพวงมาลัยจำหลักเป็นลานก้านขด หรือใบไม้ม้วนขนาดใหญ่จนเต็มพื้นที่


ทับหลังแผ่นที่ 2 เป็นทับหลังเหนือกรอบแผ่นปรางค์องค์ทิศเหนือ จำหลักภาพเกี่ยวกับเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามพระลักษณ์ถูกศรนาคบาศรัด คล้ายกับทับหลังที่ประตูมุขของมณฑปด้านทิศตะวันตก มีภาพฝูงลิงเป็นจำนวนมาก ประกอบจนเต็มพื้นที่ ฝูงลิงแสดงความเคลื่อนไหวและแสดงอาการเศร้าสลด โดยมีภาพจำหลักลายก้านขด หรือใบไม้ม้วนประกอบอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังจำหลักเป็นภาพบุคคลหรือเทวดาเหาะ ทั้งองค์พระรามและพระลักษณ์จำหลักในท่านอนติดกันมีศรนาคบาศรัดตลอดตัว และที่ด้านบนศีรษะของพระรามพระลักษณ์มีภาพสตรีในท่านั่ง ซึ่งอาจเป็นนางสีดามเหสีของพระราม (ทับหลังแผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 2 ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภันฑสถานแห่งชาติ พิมาย)
ทับหลังแผ่นที่ 3 เป็นทับหลังประตูปรางค์ประธานหรือปรางค์กลาง โดยจำหลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณยืนอยู่บนแท่นซึ่งวางอยู่เหนือหน้ากาลหรือเกียรติมุขหน้ากาลจะแยกเขี้ยวคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้ง 2 ข้าง ลักษณะของท่อนพวงมาลัยจำหลักรูปกลีบบัวผสมผสานก้านขด ที่ปลายลายใบไม้ม้วนประกอบจนเต็ม สำหรับพระอินทร์ ประทับนั่งบนหลังช้าง มีภาพจำหลักควาญช้างอยู่หัวและท้าย มีลักษณะคล้ายกลดกั้น ภาพจำหลักที่ประกอบอยู่แถวบนทั้งสองข้างไม่เหมือนกัน คือ ด้านซ้ายเป็นภาพเทพฟ้อนรำอยู่ภายในซุ้มซึ่งมีขนาดองค์ใหญ่กว่า ส่วนด้านขวาเป็นภาพเทวดาสององค์ ในท่าฟ้อนรำภายในซุ้ม ลักษณะของซุ้มก็มีความแตกต่างกัน




เสาประดับกรอบประตู ลักษณะลวดลายของเสาประดับกรอบประตูคล้ายคลึงกับเสาประดับกรอบประตูปราสาทหินพิมาย คือเป็นเสาเหลี่ยมมีเครื่องประดับตกแต่งมาก จำหลักลวดลายต่างๆ เช่น ลายกลีบบัว ลายใบไม้เล็กๆ คล้ายฟันปลา ลายเกสรบัว ลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือลายประจำยาม ลักษณะเสาประดับกรอบประตูจัดอยู่ในสมัยนครวัดตอนต้น
คานรองรับซุ้มหน้าบันปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พิมาย ลักษณะคานรองรับบริเวณปลายสุดทำเป็นเศียรนาค 5 เศียร ตัวคานจำหลักลวดลายเป็นหัวเพราคายเศียรนาคอยู่ทั้ง 2 มุม แนวคานที่รองรับจำหลักลวดลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือลายประจำยามเป็นแถวยาวคั่นด้วยลายนูนลูกประคำ สลับด้วยลายกลีบบัว และลายเกสรบัว
ตัวเสาที่รองรับคาน ลักษณะเป็นเสาสี่เหลี่ยม ส่วนยอดเสาเป็นชั้นหน้ากระดานจำหลักลวดลายเป็นลายประจำยามและลายกลีบดอกไม้ ใต้ลงมาคือส่วนชั้นบัวหงายจำหลักลายพรรณพฤกษา ลายใบไม้ม้วน และสลักรูปครุฑขนาดเล็กในท่าแบกหัวเสาอยู่ตรงมุม ชั้นต่อลงมาจำหลักเป็นลายกลีบบัวเรียงต่อกันรอบเสา

ลักษณะของเศียรนาคที่ประกอบคานรองรับหน้าบันของปรางค์ มีความคล้ายคลึงกับเศียรนาคที่ปราสาทหินพิมาย คือ เศียรนาคตรงกลางจะมีขนาดใหญ่ที่สุด คายพวงอุบะเป็นลายกนก หน้าของนาคค่อนข้างดุร้ายและน่ากลัว มีตาโต โปน และแยกเขี้ยว บริเวณหน้าอกจำหลักรูปดอกบัวกลม ลักษณะของเศียรนาคดังกล่าวจัดอยู่ในศิลปะแบบนครวัดตอนต้น (ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 17

หน่วยงานที่สนใจศึกษาดูงานวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีชาวกูย (การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม)
ติดต่อ กำนันทนงศักดิ์  นรดี  โทรศัพท์ 0890578852