เชิญเที่ยวชมโบราณสถานปราสาทปรางค์กู่
“ปรางค์กู่คู่บ้าน
สระกู่คู่เมือง
ลือเลื่องวัฒนธรรม
เลิศล้ำสามัคคี
ผลิตข้าวเกษตรอินทรีย์ ของดีหลวงปู่งาม”
ปราสาทปรางค์กู่ ภาษากูยเรียกว่า “เถียด เซาะโก” ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน
ลักษณะเป็นปราสาท 3 หลัง สร้างเป็นแนวเรียงหน้ากระดานจากทิศใต้ไปทิศเหนือ
ตั้งอยู่บนฐานที่สร้างด้วยหินศิลาแลงทั้งหมด ปราสาทหลังที่ 1 และ 2 สร้างด้วยอิฐมอญขนาดใหญ่
เสาแกะสลักลวดลายติดขอบประตูเพื่อรองรับทับหลัง เสาและทับหลังสร้างด้วยหินทราย
ส่วนปราสาทหลังทิศเหนือเป็นหลังเดียวที่สร้างจากหินศิลาแลง มีเสาแกะสลักลวดลาย
และทับหลังที่สร้างจากหินทรายเช่นกัน ยอดปราสาทเป็นบัวตูมมีลักษณะเช่นเดียวกันกับปราสาทศรีขรภูมิ
จังหวัดสุรินทร์
ปัจจุบันยอดปราสาทได้พังทลายลง ทับหลังและเสาติดขอบประตูได้ถูกโจรลักขโมยไปวัตถุบางชิ้นก็ตามกลับคืนมาได้และเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา มีหลายชิ้นที่นำมาเก็บไว้ที่วัดบ้านกู่
ปราสาทปรางค์กู่สร้างเมื่อ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สมัยขอมเรืองอำนาจ สันนิษฐานว่าสร้างเพื่อใช้เป็นเทวสถาน ในสภาพที่ล้อมรอบด้วยสระน้ำ
ซึ่งสภาวัฒนธรรมตำบลกู่ได้มีการสร้างทับหลังจำลอง ความกว้างเท่าของจริงมาตั้งไว้บนฐานด้านหน้าตัวปราสาทเพื่อให้ผู้คนที่มาเที่ยวชมได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป
และปราสาทปรางค์กู่นั้นยังเป็นสถานที่ที่ชุมชนชาวกูยให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง
หากมีกิจกรรมในหมู่บ้าน หรือศาสนพิธีต่างๆ
ก็จะมีการนำเครื่องเซ่นไหว้มาบอกกล่าวที่ปราสาทปรางค์กู่ให้รับทราบ
ซึ่งชาวกูยบ้านกู่ได้สมมติชื่อวิญญาณที่สิงสถิต ณ ปราสาทกู่ว่า“ปู่พัทธเสน” และใช้เรียกขานชื่อนี้ในการเซ่นไหว้ตลอดมา
ปรางค์กู่
เป็นศาสนสถานที่ได้รับอิทธิิพลศิลปะเขมร ตั้งอยู่บริเวณบ้านกู่ ตำบลกู่ อำเภอปรางค์กู่ โดยอยู่ห่างจากตัวอำเภอปรางค์กู่ประมาณ
5 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากจังหวัดศรีสะเกษประมาร 65
กิโลเมตร
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 เดือนมีนาคม
พ.ศ. 2478 และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเป็นพื้นที่ประมาณ 12
ไร่ 2 งาน 39 ตารางวา
ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 155 วันที่ 21 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2525
ปรางค์กู่ตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านกู่ ซึ่งมีลักษณะเป็นเมืองโบราณที่มีคูน้ำ คันดินล้อมรอบทาง ทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตก ส่วนทางทิศเหนือเป็นสระขนาดใหญ่ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 350 x 700 เมตร พื้นที่ภายในเมืองโบราณมีบ้านเรือนราษฎรปลูกอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น บริเวณรอบนอกเมืองโบราณเป็นทุ่งนาเพาะปลูกข้าว ห่างออกไปทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านประมาณ 200 เมตร เป็นที่ตั้งของปราสาทปรางค์กู่ โดยอยู่ห่างจากสระประมาณ 200 เมตร
ทับหลังแผ่นที่ 1 เป็นชิ้นส่วนทับหลังประดับประตูปรางค์องค์ทิศใต้ โดยจำหลักเป็นภาพพระนารายณ์สี่กรถือสังข์ จักร คธา และดอกบัวยืนอยู่บนปีกครุฑ ก็ยืนเหยียบอยู่บนหลังสิงห์ 2 ตัว ที่หันหลังให้กัน สิงห์ทั้ง 2 ตัวคายท่อนพวงมาลัยออกมา โดยใช้มือยึดจับท่อนพวงมาลัยไว้ด้วยที่ปลายท่อนพวงมาลัยนั้นจำหลักเป็นรูปเทวดานคราชออกมาเห็นในด้านข้าง 3 เศียร
ส่วนแถวบนของทับหลังจำหลักภาพเทวดาในท่าฟ้อนรำ ประกอบอยู่ 2 ด้าน ด้านละ 3 องค์
ทั้งพระนารายณ์ และเทวดาจะอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว
และริมสุดของภาพจำหลักแถวบนมีเทวดานั่งอีกด้านละ 1 องค์
ลักษณะการนุ่งผ้าของพระนารายณ์หรือวิษณุ
จะนุ่งผ้าเว้าลงใต้สะดือ มีชายผ้าปล่อยยาวลงด้านหน้าหยัก 3 ชั้น สำหรับท่อนพวงมาลัยที่สิงห์คายออกมา
จำหลักเป็นลายกลีบบัวหรือดอกบัวบานหันเข้าหากันเป็นคู่ๆ
แต่ละคู่คั่นด้วยเส้นลวดบัว ใต้ท่อนพวงมาลัยจำหลักเป็นลานก้านขด หรือใบไม้ม้วนขนาดใหญ่จนเต็มพื้นที่
ทับหลังแผ่นที่ 2 เป็นทับหลังเหนือกรอบแผ่นปรางค์องค์ทิศเหนือ
จำหลักภาพเกี่ยวกับเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามพระลักษณ์ถูกศรนาคบาศรัด
คล้ายกับทับหลังที่ประตูมุขของมณฑปด้านทิศตะวันตก มีภาพฝูงลิงเป็นจำนวนมาก
ประกอบจนเต็มพื้นที่ ฝูงลิงแสดงความเคลื่อนไหวและแสดงอาการเศร้าสลด
โดยมีภาพจำหลักลายก้านขด หรือใบไม้ม้วนประกอบอยู่ด้วย
นอกจากนี้ยังจำหลักเป็นภาพบุคคลหรือเทวดาเหาะ
ทั้งองค์พระรามและพระลักษณ์จำหลักในท่านอนติดกันมีศรนาคบาศรัดตลอดตัว
และที่ด้านบนศีรษะของพระรามพระลักษณ์มีภาพสตรีในท่านั่ง
ซึ่งอาจเป็นนางสีดามเหสีของพระราม (ทับหลังแผ่นที่ 1
และแผ่นที่ 2 ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภันฑสถานแห่งชาติ
พิมาย)
ทับหลังแผ่นที่ 3 เป็นทับหลังประตูปรางค์ประธานหรือปรางค์กลาง
โดยจำหลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณยืนอยู่บนแท่นซึ่งวางอยู่เหนือหน้ากาลหรือเกียรติมุขหน้ากาลจะแยกเขี้ยวคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้ง
2 ข้าง
ลักษณะของท่อนพวงมาลัยจำหลักรูปกลีบบัวผสมผสานก้านขด
ที่ปลายลายใบไม้ม้วนประกอบจนเต็ม สำหรับพระอินทร์ ประทับนั่งบนหลังช้าง
มีภาพจำหลักควาญช้างอยู่หัวและท้าย มีลักษณะคล้ายกลดกั้น ภาพจำหลักที่ประกอบอยู่แถวบนทั้งสองข้างไม่เหมือนกัน
คือ ด้านซ้ายเป็นภาพเทพฟ้อนรำอยู่ภายในซุ้มซึ่งมีขนาดองค์ใหญ่กว่า
ส่วนด้านขวาเป็นภาพเทวดาสององค์ ในท่าฟ้อนรำภายในซุ้ม
ลักษณะของซุ้มก็มีความแตกต่างกัน
เสาประดับกรอบประตู ลักษณะลวดลายของเสาประดับกรอบประตูคล้ายคลึงกับเสาประดับกรอบประตูปราสาทหินพิมาย
คือเป็นเสาเหลี่ยมมีเครื่องประดับตกแต่งมาก จำหลักลวดลายต่างๆ เช่น ลายกลีบบัว
ลายใบไม้เล็กๆ คล้ายฟันปลา ลายเกสรบัว ลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือลายประจำยาม
ลักษณะเสาประดับกรอบประตูจัดอยู่ในสมัยนครวัดตอนต้น
คานรองรับซุ้มหน้าบันปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พิมาย
ลักษณะคานรองรับบริเวณปลายสุดทำเป็นเศียรนาค 5 เศียร ตัวคานจำหลักลวดลายเป็นหัวเพราคายเศียรนาคอยู่ทั้ง 2 มุม แนวคานที่รองรับจำหลักลวดลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน
หรือลายประจำยามเป็นแถวยาวคั่นด้วยลายนูนลูกประคำ สลับด้วยลายกลีบบัว
และลายเกสรบัว
ตัวเสาที่รองรับคาน
ลักษณะเป็นเสาสี่เหลี่ยม
ส่วนยอดเสาเป็นชั้นหน้ากระดานจำหลักลวดลายเป็นลายประจำยามและลายกลีบดอกไม้
ใต้ลงมาคือส่วนชั้นบัวหงายจำหลักลายพรรณพฤกษา ลายใบไม้ม้วน
และสลักรูปครุฑขนาดเล็กในท่าแบกหัวเสาอยู่ตรงมุม ชั้นต่อลงมาจำหลักเป็นลายกลีบบัวเรียงต่อกันรอบเสา
ลักษณะของเศียรนาคที่ประกอบคานรองรับหน้าบันของปรางค์
มีความคล้ายคลึงกับเศียรนาคที่ปราสาทหินพิมาย คือ
เศียรนาคตรงกลางจะมีขนาดใหญ่ที่สุด คายพวงอุบะเป็นลายกนก
หน้าของนาคค่อนข้างดุร้ายและน่ากลัว มีตาโต โปน และแยกเขี้ยว บริเวณหน้าอกจำหลักรูปดอกบัวกลม
ลักษณะของเศียรนาคดังกล่าวจัดอยู่ในศิลปะแบบนครวัดตอนต้น (ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 17)
หน่วยงานที่สนใจศึกษาดูงานวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีชาวกูย (การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม)
ติดต่อ กำนันทนงศักดิ์ นรดี โทรศัพท์ 0890578852
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น